เหนื่อยง่ายคืออะไร
เหนื่อยง่าย หมายถึง เมื่อเราทำงานแล้วเกิดมีอาการเหนื่อยเร็วกว่าปกติ คือในคนปกติขณะทำงานอย่างเดียวกันกับเรายังไม่มีอาการเหนื่อย แต่เรามีความรู้สึกเหนื่อยเกิดขึ้น การเหนื่อยง่ายนั้นมีความรุนแรงหลายระดับเช่นบางคนที่มีอาการน้อยๆ อาจจะเหนื่อยก็ต่อเมื่อต้องทำงานมาก เช่นต้องไปวิ่งแข่ง ไม่สามารถที่จะวิ่งไปถึงจุดหมายได้ จนกระทั่งถึงพวกที่มีอาการรุนแรงมากคือ ทำอะไรนิดก็เหนื่อย ต้องนั่งอยู่เฉยๆ ทำอะไรไม่ได้เลย เหนื่อยกาย หรือเหนื่อยใจ การเหนื่อยเป็นความรู้สึกของแต่ละคน ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการที่เป็นโรคที่ทำให้เราต้องออกแรงหายใจเพิ่มขึ้น หรือเป็นจากจิตใจเช่นแม้จะอยู่เฉยๆ ก็เหนื่อยโดยไม่ได้ทำอะไรก็ได้ อากาศไหลเวียนจากที่มีความดันสูงไปหาที่มีความดันต่ำ ปกติปอดติดต่อกับอากาศภายนอกทางหลอดลม ดังนั้นขณะหยุดหายใจความดันในปอด (ถุงลม) จะเท่ากับความดันของอากาศรอบๆตัวเรา การที่อากาศจะไหลเข้ามาในปอดได้ เราต้องทำให้ความดันในปอดน้อยกว่าความดันของอากาศ ในการหายใจกล้ามเนื้อการหายใจต้องออกแรงทำให้ปอดขยายตัว ซึ่งจะทำให้ความดันในปอดลดลงน้อยกว่าความดันของอากาศ อากาศก็จะไหลเข้ามาสู่ในปอด ซึ่งก็คือการหายใจเข้า ในการหายใจเข้ากล้ามเนื้อการหายใจต้องออกแรงสู้กับความยืดหยุ่นของปอด และต้องออกแรงสู้กับความต้านทานของการไหลของอากาศในหลอดลมลงไปสู่ถุงลมในปอด ถ้าปอดมีความยืดหยุ่นน้อยลง พูดง่ายๆคือแข็งขึ้น เช่นมีเลือดคั่งในปอด เนื่องจากมีอาการโรคหัวใจล้ม หรือมีการอักเสบในเนื้อปอด ผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ต้องออกแรงหายใจมากกว่าปกติ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมตีบ เช่นโรคหอบหืด หรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยก็ต้องออกแรงหายใจเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติเช่นกัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจนั้นอ่อนแรงลง เช่นในกรณีที่กล้ามเนื้อมีการอักเสบ สาเหตุของการเหนื่อยง่าย เหนื่อยง่ายเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่างๆ กัน มีทั้งที่เป็นโรค และไม่ได้เป็นโรค สาเหตุเหนื่อยง่ายที่เกิดจากโรค ได้แก่
โรคหัวใจล้มวายทำให้เลือดคั่งในปอด ทำให้เราต้องออกแรงหายใจมากกว่าปกติ และนอกจากนั้นยังมีผิดปกติทางการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ทำให้ปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับเลือดได้น้อยลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องหายใจในปริมาตรที่มากขึ้น
โรคปอด ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอด เช่นปอดบวม หรือผังพืดเข้าไปเกาะในปอดมาก ทำให้ปอดมีความแข็งตัวมากขึ้น ขยายตัวลำบาก หรือมีการตีบของหลอดลม เช่นโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นทั้งที่หลอดลมส่วนต้น หรือส่วนปลายก็ได้ หรือ มีการอุดตันของหลอดเลือดในปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้น้อยลง
โรคประสาท และโรคของกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อช่วยการหายใจอ่อนแรงลง รวมทั้งการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องออกแรงใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อที่จะรักษาปริมาตรของลมหายใจเข้าออกให้เป็นปกติ
โรคซึ่งอาจทำให้มีผลต่อหัวใจ เช่นโรคโลหิตจางเรื้อรัง โรคคอพอกเป็นพิษ โรคตับ และไตพิการอย่างมาก ทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งการหายใจต้องเพิ่มขึ้นด้วยจึงอาจทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าธรรมดา
ผู้ป่วยหลายรายที่มีการพักผ่อนไม่พอ ไม่ได้ออกกำลัง (Physical Unfit) หรือเพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วยอาจมีอาการเหนื่อยง่ายได้
ผู้ป่วยอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีโรคดังที่กล่าวมาข้างต้นแต่มีอาการเหนื่อย ที่เราเรียกว่าเหนื่อยใจ ผู้ป่วยพวกนี้มักจะมีเรื่องเครียดกังวล หรือกลัว บางคราวมักจะมีอาการใจสั่น เวียนศีรษะ หรือหน้ามืดร่วมด้วย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารเป็นจำนวนมากที่มีอาการอย่างนี้ เนื่องจากมีความคิดถึงบ้านที่เราเรียกว่าเป็นNeurocirculatory Asthnia) ในปัจจุบันผู้ป่วยพวกนี้เราพบค่อนข้างเยอะ
ถ้าท่านยังไม่เคยออกกำลังกาย เริ่มแรกควรออกกำลังเบา ๆ ที่ง่ายที่สุด คือ การเดิน ให้หัวใจเต้นประมาณ 55 – 65 % ของอัตราการเต้นหัวใจขณะออกกำลังกาย ใช้เวลาน้อย ๆ ก่อน จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นในแต่ละสัปดาห์ โดยยังไม่เพิ่มความหนัก เมื่อร่างกายปรับตัวได้ จึงค่อยเพิ่มความหนักหรือความเหนื่อยตามที่ต้องการ
ท่านต้องหมั่นเคลื่อนไหวและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินเร็ว การวิ่ง การถีบจักรยาน การว่ายน้ำ แม้กระทั่งการออกแรงทำงานบ้าน งานสวน งานอาชีพ เพียงทำให้ท่านรู้สึกเหนื่อยขึ้นบ้างพอควร หายใจกระชั้นขึ้น ไม่จำเป็นต้องหนัก ถ้าออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราว ก็ให้หัวใจเต้นในระดับปานกลาง ประมาณ 65 – 75 % ของอัตราการเต้นหัวใจขณะออกกำลังกาย สะสมให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที ทุกวันหรือเกือบทุกวัน อาจแบ่งเป็น 2-3 ครั้งก็ได้
ถ้าเคลื่อนไหวออกกำลังกายอยู่แล้วและต้องการมีสมรรถภาพที่ดี ก็ต้องออกกำลังกายเป็น เรื่องเป็นราวแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ถีบจักรยานเร็ว ๆ กระโดดเชือก ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เป็นต้น ระดับเหนื่อยมากหรือหอบ ให้หัวใจเต้นประมาณ 76 – 85 % หรือ 86 – 95 % ของอัตราการเต้นหัวใจขณะออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 - 45 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ถ้าท่านอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปสำหรับผู้ชาย หรือ 55 ปีขึ้นไปสำหรับผู้หญิง หรือท่านที่มีความ เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป และต้องการออกกำลังกายแบบหนัก ๆ หรือออกกำลังกายประเภทที่ไม่เคยทำมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น