วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การออกกำลัง-การฝึกหายใจในความดันโลหิตสูง

การออกกำลัง-การฝึกหายใจในความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในคนไทย การตรวจโรคนี้ตรวจพบได้ง่าย ไม่ต้องเจาะเลือด ไม่ต้องเอกซเรย์ เพียงแค่ใช้เครื่องมือวัดความดันโลหิตก็จะทราบผลได้ แต่น่าแปลกที่คนไทยจำนวนไม่น้อยกลับเพิ่งรู้ตัวว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง เมื่อมีอาการมากแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เอาใจใส่สุขภาพของตนเองเท่าใดนัก ได้เคยมีรายงานการวิจัยพบว่า คนที่ออกกำลังกายประจำจะมีภาวะความดันโลหิตสูงน้อยกว่าคนที่ทำงานเบาและไม่ออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นท่านจะสามารถสรุปได้ว่าการป้องกันไม่ให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงนั้น หนทางหนึ่งที่ทำได้ ก็คือ การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ก็สามารถใช้ การออกกำลังกายเป็นหนทางเยียวยาโรคได้เช่นกัน การออกกำลังกายควรจะเริ่มทีละน้อยก่อน แล้วจึงเริ่มเพิ่มขึ้นเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว การออกกำลังกายที่ควรนำมาใช้ได้แก่ การเดินเล่น การวิ่งเหยาะ เล่นกีฬาเบาๆ หรือการทำงานบ้านเบาๆ ไม่จำเจ ไม่เครียด และไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ หรือประเภทต้องกลั้นลมหายใจและออกแรงเบ่ง เช่น การยกน้ำหนัก ชักเย่อ วิดพื้น เป็นต้น หากต้องการออกกำลังกายผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม สำหรับร่างกายของตนเอง การฝึกหายใจ นับเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความดันโลหิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถกระทำได้ หลายวิธีด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งเสมอไป วิธีการฝึกหายใจที่ทั่วไปใช้ น่าจะลองกันดูก็คือ ให้เริ่มด้วยการฝึกด้วยการนอนหงาย ชันเข่าขึ้น ใช้หมอนรองศีรษะ แล้วห่อไหล่เอาไว้ ปล่อยตัวตามสบายหายใจช้าๆ ลึกๆ เข้าออกทางจมูกเพียงอย่างเดียว โดยการฝึกสูดหายใจเข้าปอดนี้จะต้อง สูดหายใจเข้าให้เต็มปอดอย่างช้าๆ นับช้าๆ ไปพร้อมกับการสูดหายใจเข้าไปให้ได้ประมาณ 4-5 ครั้ง หลังจากนั้นก็ให้กลั้นหายใจนิ่งอยู่ซัก 1-2 วินาที จึงค่อยๆ หายใจออกอย่างช้าๆ พร้อมกับการนับ เช่นเดียวกับการหายใจเข้าและออกเช่นนี้ติดต่อกันสักประมาณ 10-15 ครั้ง ก็จะช่วยทำให้ระบบการหายใจ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลในการลดความดันโลหิตไปด้วยในตัว การฝึกหายใจอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ให้ยืนตรงหายใจเข้าทางจมูกให้เต็มที่พร้อมๆ กับ การเอนตัวไปทางขวาอย่างช้าๆ ให้มือขวาไต่ไปตามขาขวาด้านนอก ส่วนมือซ้าย ก็ให้ยกตรงสูงเหนือศีรษะ แล้วเปลี่ยนเป็นหายใจออกในขณะเอนตัวกลับไปทางซ้าย โดยให้มือซ้ายไต่ลงตามขาซ้ายด้านนอก ส่วนมือขวายกขึ้นตรงเหนือศีรษะ ทำท่านี้ติดต่อกัน 10 ครั้งแล้วสลับท่าใหม่โดยหายใจเข้าเอนตัวทางซ้าย แล้วหายใจออกเอนตัวทางขวาทำติดต่อกัน 10 ครั้งเช่นกัน การฝึกท่านี้ช่วยเพิ่มการขยายตัว ของด้านข้างบริเวณช่องอกซึ่งก็เท่ากับว่า เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผ่อนลมออกจากปอด และกระตุ้นอาการบีบตัวไล่ลมออกจากปอดอีกด้วย
น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
แหล่งที่มา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: